Print this page

ขัวเพอเลอ

      ขัวเพอเลอ (สะพานไม้ห้วยสะแบก) ตั้งอยู่ที่ บ้านห้วยสะแบก หมู่ที่ 5 ตำบลโคกสำราญ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร

       สร้างเมื่อ พ.ศ. 2493 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยกรมทางหลวง ควบคุมการก่อสร้างโดยแขวงการทางอำนาจเจริญ เป็นสะพานไม้ข้ามลำน้ำห้วยสะแบก ของถนนชยางกูร ซึ่งเป็นถนนทางหลวงแผ่นดินสายอุบลราชธานี – นครพนม (ปัจจุบันถนนสายนี้เชื่อมต่อถึงจังหวัดหนองคาย) ขัวเพอเลอใช้เป็นที่สัญจรข้ามลำน้ำของผู้ใช้รถใช้ถนน เดิมใช้ท่อนไม้ขนาดใหญ่มาก่อสร้าง ซึ่งสมารถรับน้ำหนักได้ถึง 20 ตันเป็นสะพานแคบที่รถแล่นสวนทางไม่ได้ ถ้ามีรถกำลังข้าม รถที่สวนทางต้องหยุดรอ เนื่องจากจุดที่สร้างสะพานเป็นจุดต่อกับทางโค้งที่ลาดเอียงลงเนินของหมู่บ้าน บ่อยครั้งที่เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนกันได้รับความเสียหาย จึงเป็นเหตุให้ย้ายทางหลวงสายนี้ออกไปนอกชุมชนในปี พ.ศ. 2512 เพื่อหลีกเลี่ยงจุดอันตรายดังกล่าว “ขัว” เป็นภาษาอีสาน แปลว่า สะพาน และ“เพอเลอ” หมายถึง ใหญ่ ในภาษาท้องถิ่น ชาวห้วยสะแบกเรียกสะพานไม้ขนาดใหญ่นี้ติดปากว่า “ขัวเพอเลอ” จนถึงทุกวันนี้

       หลังจากถนนชยางกูรตัดใหม่ซึ่งย้ายออกนอกชุมชนทางทิศตะวันตก สะพานนี้ได้ถูกทอดทิ้งจากทางราชการ โดยไม่มีการซ่อมบำรุงใดๆ แต่ก็ยังมีรถยนต์บางส่วนที่ยังสัญจรข้ามสะพานนี้ ส่วนชาวบ้านห้วยสะแบกใช้ ขัวเพอเลอ ในการสัญจรไปไร่นา ขนส่งผลผลิตทางการเกษตร หลายปีสะพานได้ชำรุดลงตามกาลเวลา จนไม่สามารถใช้สัญจรได้

       พ.ศ.2522 “ดวงกมลมหรสพ” ได้มาขอใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ไทยในเรื่อง 7 สิงห์ตะวันเพลิง ฉากการต่อสู้ระหว่างฝ่ายพระเอกกับกลุ่มโจร จนเป็นตำนานเล่าขานมา จนถึงปัจจุบัน

       พ.ศ.2525 สะพานชำรุดหนักจนต้องปิดลงอย่างถาวร แต่ชาวบ้านบางส่วนใช้ไม้พาดเดินข้ามไปข้ามมาอย่างระมัดระวัง ของบประมาณซ่อมแซมจากกรมทางหลวงก็ไม่ได้รับการพิจารณา จนกลายเป็นสะพานร้างในที่สุด และไม้ส่วนหนึ่งก็มีผู้แอบมาขโมยเพื่อเอาไปใช้ส่วนตัว

       พ.ศ.2540 ชาวบ้านห้วยสะแบกได้ช่วยกันหาไม้มาซ่อมแซมเพื่อให้สามารถผ่านไปมาได้ เนื่องจากการไปใช้สะพานคอนกรีตที่ถนนชยางกูรตัดใหม่ ไม่สะดวกและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ก็สามารถสัญจรข้ามไปมาได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากไม้ที่ได้มาจากแต่ละครัวเรือนมีขนาดและความคงทนไม่เท่ากัน ในที่สุดก็พังลงอีกครั้ง

       พ.ศ.2545 ชาวบ้านห้วยสะแบกได้เสนอโครงการเพื่อรื้อขัวเพอเลอและสร้างสะพานใหม่แบบคอนกรีตไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสำราญซึ่งก็ได้รับความสนใจ แต่ไม่มีงบประมาณเพียงพอ สะพานถูกทิ้งร้างปิดตายจนมาถึง พ.ศ.2560 สภาองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสำราญจึงได้พิจารณาถึงความจำเป็นของสะพานนี้อีกครั้ง

       พ.ศ.2560 องค์การบริหารส่วนตำบลโคกสำราญ ได้จัดสรรงบประมาณเป็นเงินจำนวน 490,000 บาท เพื่อก่อสร้างสะพานไม้เนื้อแข็งทดแทนสะพานขัวเพอเลอเดิมที่ชำรุดผุพัง ขัวเพอเลอจึงได้กลับมาคึกคักมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง ชาวบ้านได้ใช้สัญจรไปมาสะดวกสบายยิ่งขึ้น นอกเหนือจากชาวบ้านห้วยสะแบกแล้ว ยังมีชาวบ้านใกล้เคียงที่มาใช้สะพานขัวเพอเลอเนื่องจากเป็นเส้นทางลัด การที่เป็นสะพานแคบชาวบ้านจึงไม่อนุญาตให้รถยนต์ทุกชนิดผ่าน นอกจากการสัญจรด้วยเท้า รถจักรยาน จักรยานยนต์ และรถไถนาเดินตามเท่านั้น เพื่อยืดอายุการใช้งาน ปัจจุบันได้ปรับปรุงเป็นสถานที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นสะพานไม้ที่ทอดยาวข้ามลำน้ำเกือบ 80 เมตร ทำให้ดูเด่นเป็นสง่า สองฝั่งน้ำมีแมกไม้ธรรมชาติเขียวขจีหลากชนิด บ้างก็เป็นไม้เถาว์ที่พันเกี่ยวกันออกดอกสะพรั่งตามฤดูกาล จึงได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากทางราชการร่วมตกแต่งบริเวณให้สวยงามยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนา หนองขอน หนองน้ำสาธารณะที่อยู่บริเวณติดกันเพื่อเป็นสวนสุขภาพ แหล่งพักผ่อนหย่อนใจและนันทนาการของผู้คนทั้งในชุมชนและแขกผู้มาเยือน ในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป สายน้ำห้วยสะแบก ขัวเพอเลอ และหนองขอน ในวันนี้ ได้กลายเป็นจิตวิญญาณของชาวบ้านห้วยสะแบก เป็นสัญลักษณ์และแลนด์มาร์คที่สำคัญ ที่กำลังรอผู้มาเยี่ยมชม บันทึกภาพเป็นที่ระลึก และร่วมกันขับเคลื่อนสิ่งที่หวังให้ประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืนในโอกาสต่อไป